
เมืองหัวหิน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากกรุงเทพมหานคร 250 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชี่วโมง เป็นที่รู้จักกันดีทั้งชาวไทย และ ต่างประเทศ และขึ้นชื่อในเรื่องของเมืองที่เป็น สถานที่ตากอากาศอันขึ้นชื่อของประเทศก็ว่าได้



เมืองหัวหินมีภูมิประเทศที่งดงามด้านหนึ่ง หาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลใส อีกทั้งอากาศบริสุทธิ์ อีกด้านหนึ่งห้อมล้อมด้วยภูเขาน่าชวนชม จุดรวมใจชาวหัวหินมีพระราชวังไกลกังวล อันเป็นที่ประทับ แปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง
หัวหินถือกำเนิดมาเพียงแค่ร้อยกว่าปีเศษ ดังนั้นบทความนี้จะได้รวบรวม บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ ทั้งในรูปของสิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ สำหรับให้อนุชนชาวหัวหินและบุคคลทั่วไป ได้รู้จักหัวหินในอดีตเกิดความภาคภูมิใจใ นบรรพชนที่ร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นสืบมาจนเป็นหัวหินในวันนี้
ความเป็นมา เมืองหัวหิน โดยสังเขป
ก่อนหน้าที่ชื่อหัวหินยังไม่เกิด มีเรื่องเล่าขานกันว่าราวปี พ.ศ. 2377 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นที่เกษตรกรรมบางแห่งของเมืองเพชรบุรีแห้งแล้งกันดารมาก ราษฎรกลุ่มหนึ่ง จึงทิ้งถิ่นย้ายลงมาทางใต้ จนมาถึงบ้านสมอเรียง ซึ่งอยู่เหนือขึ้นมาจากเขาตะเกียบและบ้านหนองแก หรือบ้านหนองสะแก ที่บ้านสมอเรียงนี้มีหาดทรายชายทะเลแปลกกว่าที่อื่น คือมีกลุ่มหินกระจัดกระจายอยู่อย่างสายงาม ทั้งที่ดินก็มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมสำหรับทำไร่ทำนาการประมง บรรพชนเหล่านี้จึงเป็นเสมือนผู้ที่ลงหลักปักเสาสร้างบ้านหัวหินขึ้น จนกลายเป็นหมู่บ้านที่เรียกกันแต่แรกว่า “บ้านสมอเรียง”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร ต้นราชสกุลกฤดากร) เป็นเจ้านายพระองค์แรก ที่สร้างตำหนักหลังใหญ่ชายทะเลด้านใต้ของหมู่หิน (ปัจจุบันอยู่ติดกับโรงแรมโซฟิเทลฯ) และประทานชื่อตำหนักว่า “แสนสำราญสุขเวศน์” ต่อมาทรงปลูกอีกหลังหนึ่งแยกเป็น แสนสำราญ และสุขเวศน์ เพื่อไว้ใช้รับเสด็จเจ้านาย พร้อมกับทรงสร้างเรือนขนาดเล็กใต้ถุนสูงอีกหลายหลัง ซึ่งต่อ ๆ มาคือ “บังกะโลสุขเวศน์” ทรงขนานนามหาดทรายบริเวณตำหนักและหาดถัด ๆ ไปทางใต้เสียใหม่ว่า “หัวหิน” เป็นคนละส่วนกับบ้านแหลมหินเดิม โดยมีกองหินชายทะเลเป็นหมายแบ่งเขต ซึ่งบ้านแหลมหินเดิมมีเขตด้านใต้ถึงเพียงแค่ต้นเกดใหญ่ชายทะเล (ปัจจุบันอยู่หน้าโรงแรมโซฟิเทลฯ มีศาลเทพารักษ์ใหญ่) เท่านั้น ไม่ถึงที่ดินของเสด็จในกรมฯ ครั้นเมื่อวันเวลาผ่านไป ชื่อ “หัวหิน” ก็แผ่คลุมทั้งหาดทั้งตำบลจนขยายเป็นอำเภอหัวหิน ส่วนที่ดินแปลงที่อยู่ตรงหมู่หินชายทะเล เป็นของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งทรงสร้างตำหนักใหญ่ขึ้นถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือตำหนักขาว ครั้งหลังคือตำหนักเทาและเรือนเล็กอีกหลายหลัง ซึ่งก็คือบ้านจักรพงษ์ในเวลาต่อมา ปัจจุบันคือโรงแรมเมเลีย ซึ่งได้เปลี่ยนผู้ดำเนินการเป็นโรงแรมฮิลตัน
ในช่วงเวลาเดียวกันกับการสร้างพระราชวังไกลกังวล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ต้นราชสกุลบูรฉัตร ก็ได้จัดสร้างตลาดฉัตร์ไชยขึ้นในที่ดินพระคลังข้างที่ โดยออกแบบให้มีหลังคารูปโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน 7 โค้งเพื่อสื่อความหมายว่าเป็นการสร้างขึ้นในราชการที่ 7 ทั้งตัวอาคารและแผงขายสินค้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตัวตลาดโล่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และจัดว่าเป็นตลาดที่ถูกสุขลักษณะ ที่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น ชื่อตลาดฉัตร์ไชยนี้มาจากพระนามเดิมของพระองค์ คือพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรนั่นเอง ต่อมาตลาดฉัตร์ไชยและโรงแรมรถไฟ หรือโฮเต็ลหัวหินก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของชายทะเลหัวหิน ส่วนพระราชวังไกลกังวลนั้นถือว่าเป็นสถานที่อันควรสักการบูชา มากกว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว นับตั้งแต่มีการสร้างทางรถไฟแล้วเสร็จ เชื่อมต่อกับชายแดนของประเทศมาเลเซีย หัวหินก็มีชื่อเสียงว่าเป็นสถานที่พักตากอากาศ อันลือชื่อของไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อน ว่ายน้ำ ตกปลา และตีกอล์ฟเนื่องจากมีสนามกอล์ฟ หัวหินรอยัลกอล์ฟ ซึ่งจัดเป็นสนามกอล์ฟระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย ชื่อเสียงของหัวหินนั้นเติบโตเคียงข้างมากับตัวโรงแรม รถไฟก็ว่าได้ ต่อมามีการสร้างบังกะโลขึ้น คือ เซ็นทรัลหัวหินวิลเลจ ซึ่งได้ถูกคัดเลือกให้เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ เรื่อง “Devil’s Paradise” เช่นเดียวกับโรงแรมรถไฟหัวหิน ซึ่งใช้เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่อง “The Killing Fields” โดยเป็นการจำลองสถานที่คือ โรงแรมชั้นนำในกรุงพนมเปญในยุคสงคราม